- หนังสือชี้ชวนของหุ้นกู้ที่ซื้อขายกันไปแล้ว สามารถ download ได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. www.sec.or.th
- ข้อมูล rating หุ้นกู้ ติดตามได้จากหนังสือชี้ชวนในเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. หรือเว็บไซต์ของ CRA ทั้งนี้ หากเป็นข้อมูลrating outlook ต้องติดตามจากข่าวสารตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือจากเว็บไซต์ของ CRA ผู้ทำการประเมิน
- รายละเอียดเกี่ยวกับหุ้นกู้ที่ออกใหม่ สอบถามได้จากธนาคารพาณิชย์ หรือ บริษัทหลักทรัพย์ ที่เป็นผู้จัดจำหน่าย
- ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหุ้นกู้: ข้อมูลการซื้อขาย และผลตอบแทนหุ้นกู้ ติดตามจากเว็บไซต์ของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย www.thaibma.or.th
ความเสี่ยงหลักของตราสารหนี้
ไม่ว่าจะลงทุนในหลักทรัพย์ใดย่อมมีความเสี่ยงแฝงอยู่ เพียงแต่ความเสี่ยงนั้นอาจแตกต่างกันไปตามลักษณะของหลักทรัพย์ที่แตกต่างกัน การลงทุนในหุ้นกู้ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ในกรณีที่เราซื้อหุ้นกู้มาแล้ว รู้หรือไม่ว่าในระหว่างถือนั้นยังคงมีอความเสี่ยงอยู่ มาทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับความเสี่ยงที่สำคัญเหล่านั้นกัน


- การลงทุนในหุ้นกู้ เราจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ และผู้ออกมีฐานะเป็นลูกหนี้ ซึ่งเราจะได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยตามวันที่กำหนดในสัญญา และได้คืนเงินต้นในวันที่สิ้นสุดสัญญา เราในฐานะเจ้าหนี้จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงหากลูกหนี้หรือผู้ออกไม่สามารถทำตามสัญญาในการจ่ายดอกเบี้ยและชำระเงินต้นได้ตามกำหนด ซึ่งก็คือ “ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (Credit/Default risk)”
ทั้งนี้ "อันดับความน่าเชื่อถือ หรือ Credit Rating" เป็นสิ่งที่จะช่วยบอกเราว่าบริษัทนั้น ๆ มีความเสี่ยงของ การไม่สามารถจ่ายชำระหนี้อยู่ในระดับสูงหรือต่ำ

- ในกรณีที่เราซื้อหุ้นกู้ที่มี credit rating ที่ดี ก็ไม่ควรชะล่าใจเกินไปเพราะไม่ได้หมายความว่าหุ้นกู้นั้นจะดีตลอดไป หุ้นกู้นั้นอาจจะถูกปรับลด credit rating หากระหว่างการถือนั้นบริษัทที่ออกหุ้นกู้มีแนวโน้มที่ผลประกอบการจะแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ อันดับเครดิตที่ได้รับมาตอนเริ่มแรกอาจถูกปรับลดได้ ซึ่งหมายถึงเกิดความเสี่ยงในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้หุ้นกู้นั้นมีราคาต่ำลง เพราะฉะนั้น หุ้นกู้ rating BBB- ยิ่งต้องระวัง เพราะถ้ามีปัญหามากระทบความสามารถในการชำระหนี้และอันดับเครดิตถูกปรับลดจะกลายเป็นหุ้นกู้ความเสี่ยงสูง (junk bond) ทันที ความเสี่ยงนี้คือ “ความเสี่ยงจากการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ (Downgrade Risk)”

- ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในตลาดจะส่งผลต่อราคาหุ้นกู้ โดยในช่วงที่ดอกเบี้ยในตลาดขยับตัวสูงขึ้น ราคาของหุ้นกู้จะปรับตัวลดลง ในทางตรงข้ามหากดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวลดลง ราคาของหุ้นกู้จะขยับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อกำไรขาดทุนหากมีการขายหุ้นกู้ก่อนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอน ความเสี่ยงที่ราคาของหุ้นกู้จะลดลงไปตามดอกเบี้ยในตลาดที่เพิ่มขึ้นนี้คือ “ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย (Interest rate risk)”
หากคุณซื้อหุ้นกู้ที่มีราคาหน้าตั๋ว 1,000 บาท และมีอัตราดอกเบี้ย 4% หลังจากนั้น 1 ปี อัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 5% หากคุณต้องการขายหุ้นกู้ก่อนครบกำหนด หุ้นกู้ของคุณที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าในตลาดจะมีความน่าสนใจลดลง และอาจส่งผลให้คุณต้องขายหุ้นกู้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่คุณเคยซื้อมา
นอกจากนี้การที่หุ้นกู้นั้นๆได้รับความนิยมลดลง อาจทำให้เราขายหุ้นกู้นั้นไม่ได้ตามเวลาที่ต้องการ หรือขายไม่ได้ในราคาที่ต้องการ ความเสี่ยงนี้คือ “ความเสี่ยงในเรื่องสภาพคล่อง (Liquidity risk)”

- ในกรณีเราซื้อหุ้นกู้ที่ผู้ออกสามารถไถ่ถอนได้ก่อนครบกำหนด ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง ผู้ออกมักจะใช้สิทธิไถ่ถอนก่อนครบกำหนดเพื่อออกหุ้นกู้ใหม่ในต้นทุนที่ต่ำกว่า ทำให้เราเสียโอกาสการได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่สูงตามที่กำหนดไว้ ความเสี่ยงนี้คือ “ความเสี่ยงจากการถูกไถ่ถอนก่อนครบกำหนด (Call risk)”

- การที่บริษัทควบรวมกิจการ หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่สำคัญของบริษัท เช่น เปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งอาจมีดุลพินิจที่ไม่เป็นคุณแก่เจ้าหนี้หุ้นกู้เดิม เช่น การประกาศเพิ่มอัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลต่อกำไร (Payout Ratio) ซึ่งหมายถึงกระแสเงินสดจำนวนมากที่จะต้องจ่ายเป็นเงินปันผลประจำปี เหตุการณ์เหล่านี้อาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท ความเสี่ยงนี้คือ “ความเสี่ยงจากเหตุการณ์สำคัญของบริษัท (Event risk)”